ท๓๐๑๐๒ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ๒ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

ยินดีต้อนรับสู่บล็อกการเรียนการสอน รายวิชา ท๓๐๑๐๒ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ๒ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ครับ

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การใช้คำ (เฉลยแบบทดสอบก่อนเรียน)

เฉลยแบบทดสอบก่อนเรียน เรื่อง การใช้คำ

๑. กลุ่มคำในข้อใดมีความหมายกว้าง
          ก.       คุณแม่ทำความสะอาดเครื่องเงิน                       ข.       เครื่องซักผ้าที่บ้านฉันเสียแล้ว
          ค.       พี่สาวใช้เครื่องเป่าผมทุกวัน                            ง.        ลุงซื้อเครื่องดูดฝุ่นใหม่
เฉลย:   ก.       คุณแม่ทำความสะอาดเครื่องเงิน
คำอธิบาย        เครื่องเงินเป็นคำที่มีความหมายกว้าง เพราะเครื่องเงินมีหลายชนิด เช่น สร้อย แหวน ต่างหู เข็มขัด
เข็มกลัด ปิ่นปักผม หรือกำไล ฯลฯ ที่ผลิตขึ้นด้วยโลหะเงิน เป็นต้น

๒. กลุ่มคำในข้อใดมีความหมายมากกว่า ๑ ความหมาย ทุกคำ
          ก.       เจ้าบ้าน  ลายคราม                                    ข.       ตามน้ำ  สับหลีก
          ค.       ขึ้นหม้อ  ทอดเสียง                                     ง.        หน้าไม้  หน้าบัน
เฉลย:   ข.       ตามน้ำ  สับหลีก
คำอธิบาย       
          ก.       เจ้าบ้าน          หมายถึง (กฎ) บุคคลผู้เป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า
หรือในฐานะอื่น เช่นผู้ดูแลบ้าน
                   ลายคราม         หมายถึง ๑. น. เรียกภาชนะเนื้อกระเบื้องที่เขียนลายเป็นสีคราม เช่นชามลายคราม
ถ้วยลายคราม แจกันลายคราม ฯลฯ ๒. โดยปริยายหมายถึงของเก่าที่มีค่า เช่น
เก่าลายคราม ไม่ใช่เก่ากะลา เก่าโบราณเช่น รุ่นลายคราม.
ข.       ตามน้ำ            หมายถึง ๑. ไม่ทวนกระแส (ใช้แก่กระแสน้ำหรือกระแสลม) ในคำว่าตามน้ำ ตามลม
                             ๒. โดยปริยายหมายความว่าปฏิบัติ หรือทำตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เช่นพูดผสมโรงไปตามน้ำ หรือการคอรัปชั่นของข้าราชการชั้นผู้น้อยเพราะต้องทำไป
ตามที่เจ้านายสั่ง เรียกกินตามน้ำ มักใช้ในทางลบ
                   สับหลีก                    หมายถึง (ปาก) ๑. ก. เปลี่ยนทางหลีกของรถไฟ, ๒. โดยปริยายหมายความว่าเปลี่ยน
หรือกำหนดนัดไม่ให้ผู้มาหาตนพบกับอีกคนหนึ่ง (มักใช้ในทางชู้สาว)
          ค.       ขึ้นหม้อ           หมายถึง ๑. น. เรียกข้าวที่หุงสุกแล้วพองตัวมากกว่าข้าวธรรมดาว่าข้าวขึ้นหม้อ
                                      ๒. ว. โดยปริยายหมายความว่า มีผลประโยชน์รวดเร็วมากผิดปกติ, โดดเด่น,
เป็นที่โปรดปราน, โชคดี
                    ทอดเสียง         หมายถึง ก. เอื้อนเสียงให้ยาวกว่าปกติ
          ง.        หน้าไม้            หมายถึง ๑. น. วิธีคิดเลขเพื่อให้รู้ว่าไม้มีกี่ยก;
๒. เครื่องยิงชนิดหนึ่งมีคันและรางยิงด้วยลูกหน้าไม้
                   หน้าบัน           หมายถึง น. จั่ว ใช้แก่โบสถ์ ปราสาท หรือวิหาร เป็นต้น

๓. คำในข้อใดทุกคำใช้ได้ทั้งความหมายตรงและความหมายโดยนัย
          ก.       คอแข็ง  ใจดี                                           ข.       มือหนัก  ขาแข็ง
          ค.       หัวแข็ง  ตาโต                                          ง.        มือไว  ใจอ่อน
เฉลย:   ค.       หัวแข็ง  ตาโต
          ก.       คอแข็ง  มีความหมายโดยนัยอย่างเดียว หมายถึง ๑. อาการที่นิ่งอั้นเพราะเถียงไม่ขึ้นเป็นต้น
๒. ทนต่อรสชาติอันรุนแรงของสุราได้
ใจดี มีความหมายตรงอย่างเดียว หมายถึง มีใจเมตตากรุณาไม่โกรธง่าย

ข.       มือหนัก มีความหมายโดยนัยอย่างเดียว หมายถึง ๑. อาการที่ใช้มือทำอะไรอย่างรุนแรงไม่ประณีต
ไม่บรรจง ตรงข้ามกับมือเบา ๒. มากผิดปกติ เช่น แทงหวยมือหนักไปหน่อย เป็นต้น
ขาแข็ง มีความหมายตรงอย่างเดียว หมายถึง ยืนอยู่ที่ใดเป็นเวลานานจนกล้ามเนื้อขาตึง
ค.       หัวแข็ง มีความหมายโดยนัยอย่างเดียว หมายถึง ๑. แข็งแรงทนทานไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เด็กคนนี้หัวแข็ง
ตากฝนเป็นชั่วโมงไม่เห็นเป็นอะไรเลย ๒. กระด้าง ว่ายาก เช่น เขาเป็นคนหัวแข็ง ตรงข้ามกับหัวอ่อน
ตาโต (สำนวน) มีความหมายโดยนัยอย่างเดียว หมายถึงอาการที่ตาเบิกกว้างเพราะยากได้เมื่อเห็นเงิน
ง.        มือไว มีความหมายโดยนัยอย่างเดียว หมายถึง ขี้ขโมย
ใจอ่อน มีความหมายโดยนัยอย่างเดียว หมายถึง ยอมง่าย สงสารง่าย

๔. ข้อใดเป็นคำไวพจน์ทุกคำ
          ก.       กนก  รัชดา                                            ข.       วนิดา  ปัทมา
          ค.       อาชาไนย  มโนรมย์                                    ง.        คเชนทร์  มาตงค์
เฉลย:   ง.       คเชนทร์  มาตงค์
คำอธิบาย        คำไวพจน์ หมายถึง คำที่มีความหมายเหมือนกันแต่เขียน/ออกเสียงต่างกัน มักใช้ในการประพันธ์
ก. กนก (ทอง) รัชดา (เงิน)                             ข. วนิดา (ลูกสาว) ปัทมา (ดอกบัว)
ค. อาชาไนย (ม้า) มโนรมย์ (เป็นที่ชอบใจ)            ง. คเชนทร์  มาตงค์ (ช้าง)

๕.       ข้อใดใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงตัวทุกคำ
          ก.       เขาเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคมไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังเขาค้ายาบ้า
          ข.       เมื่อถูกฉีกหน้ากลางที่ประชุม เขาจึงตัดสินใจลาออก
          ค.       ใบหน้าของเขาเหยเกด้วยความเจ็บปวดจากบาดแผล
          ง.        คนเราต้องมีใจนักเลงเมื่อทำผิดต้องยอมรับผิด
เฉลย:             ค.       ใบหน้าของเขาเหยเกด้วยความเจ็บปวดจากบาดแผล
คำอธิบาย        ก.       เขาเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคมไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังเขาค้ายาบ้า
                    ข.       เมื่อถูกฉีกหน้ากลางที่ประชุม เขาจึงตัดสินใจลาออก
                    ค.       ใบหน้าของเขาเหยเกด้วยความเจ็บปวดจากบาดแผล
                    ง.        คนเราต้องมีใจนักเลงเมื่อทำผิดต้องยอมรับผิด
คำที่ขีดเส้นใต้มีความหมายเชิงอุปมาทุกคำ ยกเว้นข้อ ค. ที่มีความหมายตรงตัว

๖. ข้อใดใช้คำถูกต้องตามความหมาย
          ก.       คนเราต้องมีศาสนาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ ข.       ศาลานี้เก่ามากจนพื้นชำรุดลงไปแถบหนึ่ง
          ค.       ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรม                    ง.        แพทย์มีหน้าที่ขจัดโรคให้คนไข้
เฉลย:             ข.       ศาลานี้เก่ามากจนพื้นชำรุดลงไปแถบหนึ่ง
คำอธิบาย        ก.       คนเราต้องมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
                    ค.       ตำรวจมีหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรม    
ง.        แพทย์มีหน้าที่รักษาโรคให้คนไข้
๗. ข้อใดใช้คำได้ถูกต้องเหมาะสมกับระดับบุคคล
          ก.       ฉันดูหนังเรื่องนี้แล้วละไม่สนุกเลย                     ข.       อาจารย์คะ ผอ.เรียกไปพบค่ะ
          ค.       เชิญแขกทุกท่านกินอาหารครับ                        ง.        คุณป้าจะเดินทางเมื่อไหร่ล่ะ
เฉลย:             ก.       ฉันดูหนังเรื่องนี้แล้วละไม่สนุกเลย / ข้ออื่นๆ มีระดับภาษาที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งต้องแก้ไขดังนี้
คำอธิบาย        ข.       อาจารย์คะ ผอ. เชิญไปพบค่ะ (เรียก)
                    ค.       เชิญแขกทุกท่านรับประทานอาหารครับ (กิน)
                   ง.        คุณป้าจะเดินทางเมื่อไหร่ครับ/คะ (ล่ะ)

๘. ข้อใดใช้คำที่มีความหมายชัดเจน
          ก.       เขาไม่กินข้าวเย็น                                       ข.       ปลามันมากจริงๆ
          ค.       เขาตัวสูงเกินไป                                         ง.        รำถูกอย่างนี้ไม่มีปัญหา
เฉลย:             ค.       เขาตัวสูงเกินไป
คำอธิบาย        ข้ออื่นเป็นประโยคกำกวมดังนี้
                   ก.       เขาไม่กินข้าวเย็น อาจหมายถึงข้าวมื้อเย็น หรือข้าวที่เย็นชืดก็ได้
                   ข.       ปลามันมากจริงๆ อาจหมายถึงปลาที่เนื้อมีความมัน หรือมันเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ แทนปลา
                   ง.        รำถูกอย่างนี้ไม่มีปัญหา อาจหมายถึง รำที่เป็นคำกริยา หรือรำข้าวที่เป็นคำนามก็ได้

๙. ข้อใดใช้คำได้ถูกต้องตามระเบียบของภาษา
          ก.       ขลุ่ยอันนี้เสียงเพราะดี                                  ข.       เขายื่นใบสมัครแก่เจ้าหน้าที่
          ค.       หน้าตาของเขาเหมือนอย่างกับพ่อ                     ง.        ความหวังเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงหัวใจมนุษย์
เฉลย:             ข.       เขายื่นใบสมัครแก่เจ้าหน้าที่
คำอธิบาย        ข้ออื่นๆ ใช้คำผิดระเบียบของภาษาดังนี้
          ก.       ขลุ่ยเลานี้เสียงเพราะดี (การใช้คำลักษณนาม)                 
ข.       เขายื่นใบสมัครแก่เจ้าหน้าที่ (แก่ / คำนำหน้านามผู้รับ)     
ค.       หน้าตาของเขาเหมือนพ่อราวกับแกะ/หน้าตาของเขาเหมือนพ่อ (การเรียงลำดับประโยค)          ง.        ความหวังเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจมนุษย์/ความหวังเป็นเครื่องล่อเลี้ยงหัวใจมนุษย์ (การใช้สันธาน)

๑๐. ข้อใดใช้คำไม่ถูกต้องตามความหมาย
          ก.       เธอมีน้ำตาคลอเบ้า เมื่อฟังเรื่องเศร้าสะเทือนใจ      
ข.       คุณปู่โกนผมไฟหลานเมื่ออายุครบเดือน
          ค.       ในช่วงนี้ตอนเย็นๆ จะได้ยินเสียงจิ้งหรีดเซ็งแซ่       
ง.        เราจะบริจาคเงินเท่าไรก็ได้ ทางโรงเรียนไม่ได้กะเกณฑ์
เฉลย:             ง.       เราจะบริจาคเงินเท่าไรก็ได้ ทางโรงเรียนไม่ได้กะเกณฑ์
คำอธิบาย        ข้ออื่นๆ ใช้คำถูกต้องตามความหมายแล้ว แต่ข้อ ง. ใช้คำ กะเกณฑ์
                   ซึ่งไม่เหมาะจะมีความหมายว่า กำหนด ตามความหมายของประโยค เนื่องจาก กะเกณฑ์
                   หมายถึง บังคับ; กำหนดเป็นเชิงบังคับ แต่ใช้กับการปฏิบัติงาน/การร่วมมือกันทำงาน
                   ไม่ใช้กับการบริจาคเงิน

การใช้คำ (ความรู้เกี่ยวกับการใช้คำ)



คำ[๑]

คำประกอบด้วยเสียงที่มีความหมายซึ่ง มนุษย์ใช้ในการสื่อสารทั้งระหว่างบุคคล ในกลุ่ม ในที่สาธารณะ ตลอดจนทางสื่อมวลชนคำหลายๆ คำที่เรียบเรียงไว้ตายตัว สลับที่หรือตัดทอนไม่ได้ มีความหมายไม่ตรงไปตรงมาแต่เป็นที่เข้าใจกัน บางทีมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งกินใจ ทำให้เห็นภาพชัด เรียกว่า สำนวนการรู้จักใช้คำและสำนวนช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิผล ยิ่งรู้จักคำและสำนวนมากเพียงใด โอกาสที่จะเลือกใช้คำและสำนวนได้ดี ยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น
ถ้าไม่สามารถเลือกใช้คำและสำนวนให้สื่อความหมายได้ตรงย่อมไม่อาจสื่อสารได้ สัมฤทธิผล อาจเสียโอกาสที่จะแสดงความคิดของตนให้กระชับ ชัดเจน รวดเร็ว และมีชีวิตชีวา

คำ อาจแยกพิจารณาโดยคำนึงถึงความหมายได้ดังนี้
๑. ความหมายเฉพาะ
๒. ความหมายเทียบเคียงกับคำอื่น

ความหมายเฉพาะ
คำ อาจสื่อความหมายเฉพาะหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น คำ หน้า อาจหมายถึง ส่วนนอกของศีรษะด้านที่ประกอบด้วยหน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก คาง แก้ม อาจหมายถึงด้านตรงข้ามกับด้านหลัง หรืออาจหมายถึง ส่วนที่อยู่ด้านบนของขนมบางชนิด เช่น หน้ากุ้ง หน้าสังขยา หน้าเค้ก หรืออาจหมายถึง คราวฤดูกาลก็ได้
ความหมายเฉพาะของคำอาจแยกพิจารณาได้ ๒ ทางคือ ทางที่ ๑ เป็นความหมายตามตัวกับความหมายเชิงอุปมา ทางที่ ๒ เป็นความหมายนัยตรงกับความหมายนัยประหวัด

ความหมายตามตัวกับความหมายเชิงอุปมา
สังเกตคำที่ใช้ในตัวอย่างต่อไปนี้
ก. เมื่อคืนนี้มี ดาว เต็มท้องฟ้า
ข. งานเลี้ยงเมื่อคืนนี้มี ดาว เต็มไปหมด

ประโยค ก. ดาว หมายถึง ดาวที่อยู่ในท้องฟ้า ส่วนประโยค ข. ดาว หมายถึงคนเด่นเป็นพิเศษ อาจเป็นผู้มีความงามหรือความสามารถที่คนจำนวนมากสนใจ ดาว ในประโยค ก. เป็นคำที่มีความหมายตามตัว ส่วน ดาว ในประโยค ข. มีความหมายเชิงอุปมา

เจ้าน้อยเป็น  ลูกหม้อ  แท้
                       
คำ ลูกหม้อ อาจมีความหมายตามตัวหรือความหมายเชิงอุปมาก็ได้แล้วแต่บริบท ถ้า เจ้าน้อยเป็นชื่อของปลากัดก็หมายความว่า เจ้าน้อยเป็นปลาที่เจ้าของผสมขึ้นในหม้อหรือในโอ่ง คำว่า ลูกหม้อ ย่อมีความหมายตามตัว
ถ้า เจ้าน้อย เป็นชื่อของเด็กที่เกิดในตระกูลนักแสดงและโตขึ้นเป็นนักแสดงเช่นเดียวกับบรรพบุรุษในตระกูล หรือ เจ้าน้อย ทำงานอยู่ในองค์การใดองค์การหนึ่งตั้งแต่ตำแหน่งชั้นต้นจนถึงตำแหน่งสูง หรืออาจเรียนจบจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งและได้เป็นอาจารย์ในสถาบันนั้น บริบทเหล่านี้จะกำหนดความหมายของคำว่า ลูกหม้อ ให้มีความหมายเชิงอุปมา
สรุปได้ว่า ความหมายตามตัว เป็นความหมายเดิมของคำเมื่อปรากฏในบริบทต่างๆ ส่วนความหมายเชิงอุปมา เป็นความหมายที่เกิดจากการเปรียบเทียบกับความหมายตามตัวของคำนั้นในบริบทอื่นๆ
ความหมายนัยตรงกับความหมายนัยประหวัด
สังเกตถ้อยคำที่ใช้ในตัวอย่างต่อไปนี้
ก. ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อปีที่แล้ว สถิติคนเสียชีวิตด้วยโรค มะเร็ง อยู่ในลำดับที่สาม
ข. ทางราชการดำริจะจัดงานวัน มะเร็งแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง

ประโยค ก คำ มะเร็ง หมาย ถึง โรคชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ผู้นำเสนอประโยคนี้มิได้เจตนาที่จะให้เกิดความรู้สึกอย่างอื่นนอกจากรับทราบข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยปกติผู้ที่ได้อ่านหรือได้ฟังก็จะเข้าใจตรงตามเจตนาดังกล่าว คำ มะเร็ง ในที่นี้มีความหมายนัยตรง
ประโยค ข คำ มะเร็ง แม้ผู้นำเสนอมีเจตนาจะให้มีความหมายเช่นเดียวกับ มะเร็ง ในประโยค ก แต่ผู้อ่านได้ฟังอาจนึกประหวัดไปถึงอันตรายร้ายแรง ความน่าสะพรึงกลัวของโรค ไม่พอใจที่เห็นคำนี้ในบริบท "แห่งชาติ" คำ มะเร็ง ในประโยคนี้จึงมีความหมายนัยประหวัดสำหรับคนกลุ่มนั้น
สังเกตตัวอย่างต่อไปนี้: คนกลุ่มนี้ หัวอ่อน ทั้งนั้น
คน หัวอ่อน มีความหมายเชิงอุปมาว่า เป็นคนยอมง่าย ไม่คัดค้าน ไม่ดื้อดึง จึงเป็นที่ปกครองง่าย ผู้ที่ได้อ่านหรือได้ฟังอาจนึกประหวัดไปในทางที่ไม่ยกย่อง เพราะขาดความเป็นผู้นำ เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ไม่ได้
สรุป ได้ว่า ความหมายนัยตรง เป็นความหมายตามที่ปรากฏในพจนานุกรม อาจเป็นความหมายตามตัว หรือความหมายเชิงอุปมาก็ได้ ซึ่งปกติแล้วผู้ใช้ภาษาจะเข้าใจตรงกันส่วนความหมายนัยประหวัดเป็นความหมาย ที่คำนั้นก้อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ กันไป อาจเป็นทางดี ไม่ดี หรือในทางอื่นใดก็ได้

ความหมายเทียบเคียงกับคำอื่น
คำต่างๆ ในภาษาจำนวนไม่น้อยอาจมีความหมายเหมือนกัน คล้ายกันหรือร่วมกันตรงข้ามกัน หรือครอบคลุมคำอื่น จะอธิบายเป็นพวกๆ ดังต่อไปนี้

คำที่มีความหมายเหมือนกัน
มีคำเป็นอันมากที่อาจถือได้ว่ามีความหมายเหมือนกัน ตัวอย่าง คำที่มีความหมายว่า กิน มีคำ รับประทาน บริโภค ฟาด ฯลฯ คำที่มีความหมายว่า ดอกไม้ มีคำ ผกา มาลี บุปผา ฯลฯ คำที่มีว่า หญิง มีคำ นารี กัญญา อิสตรี ฯลฯ
อย่างไรก็ดี คำเหล่านี้ถึงแม้จะว่ามีความหมายเหมือนกัน แต่ใช้แทนกันไม่ได้ในทุกกรณีมีข้อสังเกตดังนี้
๑.       คำหนึ่งใช้ในภาษาสุภาพ อีกคนหนึ่งใช้ในภาษาไม่สุภาพ หรือภาษาที่ต่างระดับกัน เช่น รับประทาน สุภาพกว่า กิน ศีรษะ สุภาพกว่า หัว
๒.       คำหนึ่งใช้เมื่อต้องการให้เป็นแบบแผน อีกคำหนึ่งเมื่อมิได้ต้องการให้เป็นแบบแผน คำที่เป็นแบบแผน เช่น มาก ใบอนุญาตขับรถยนต์ทั้ง ภาพยนตร์ ๓ คำนี้ ถ้ามิได้ต้องการให้เป็นแบบแผนก็ใช้ว่า เยอะแยะ ใบขับขี่ หนัง ตามลำดับ
๓.       คำหนึ่งใช้ในภาษาสำหรับเด็ก อีกคำหนึ่งใช้ในภาษาสำหรับผู้ใหญ่ เช่น เด็กใช้ หม่ำ ผู้ใหญ่ใช้ กิน
๔.       คำหนึ่งใช้ในภาษาการประพันธ์ อีกคนหนึ่งใช้ในภาษาสามัญ เช่น ในภาษาการประพันธ์ใช้ กนก กรรพุม จำรัส สุริยา แต่ในภาษาสามัญใช้ว่า ทอง พนมมือไหว้ ดอกบัว สว่างหรือแจ่มใส ตะวันหรือพระอาทิตย์ ตามลำดับ

คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือร่วมกัน
มีคำจำนวนมากที่มีความหมายส่วนหนึ่งร่วมกัน แต่ความหมายอีกส่วนหนึ่งต่างกัน เช่น
ตัด-หั่น ความหมายร่วมกันคือทำให้ขาดด้วยของมีคม แต่ความหมายที่ต่างกันคือ อาการที่ทำให้ขาด ถ้า หั่น ต้องใช้เขียงหรือสิ่งของอื่นรอง แต่ ตัด ไม่จำเป็น คำที่มีความหมายถึงทำให้ขาดด้วยของมีคมยังมีอีกมากเช่น เฉือน ปาด สับ แล่ เลาะ เจียน ฝาน คว้าน
ส่งเสริม-สนับสนุน ความหมายร่วมกันคือ ช่วยทำให้ดีขึ้น แต่ความหมายที่แตกต่างกัน คือ  ส่งเสริม เน้นการช่วยด้วยคำพูดหรือการปฏิบัติหรือการกระทำ เช่น รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน สนับสนุน คือเห็นด้วย เพราะช่วยให้ความสำเร็จด้วยวิธีการต่างๆ อาจลงมือปฏิบัติหรือเพียงแต่ให้กำลังใจ

คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกัน
มีคำจำนวนหนึ่งซึ่งเทียบกันแล้วจะมีความหมายตรงกันข้ามกัน เช่น

อ้วน - ผอม
ดึง ดัน
คลาย - ขัน
ดี ชั่ว
ตึง - หย่อน
ยิ้ม - บึ้ง
มืด - สว่าง
ซ้าย ขวา
พอง - แฟบ
กลางวัน - กลางคืน
ใน - นอก
สุจริต ทุจริต
เป็น ตาย
อภิชาตบุตร - อวชาตบุตร

คำที่มีความหมายครอบคลุมคำอื่น
คำบางคำมีความหมายครอบคลุมรวมความหมายอื่นๆ ไว้ หรือมีความหมายกว้างกว่าคำอื่นเช่น
พืช มีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดซึ่งไม่ใช่สัตว์ เช่น ต้นไม้ ผัก หญ้า ทั้งที่มีดอกและไม่มีดอก ทั้งไม้ล้มลุกและไม้ยืนต้น
เครื่องเขียน มีความหมายครอบคลุมถึงเครื่องใช้เกี่ยวเนื่องกับการเขียนทั้งหมด เช่น ดินสอ ปากกา ไม้บรรทัด ยางลบ
เครื่องสุขภัณฑ์ มีความหมายครอบคลุมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องน้ำทั้งหมด เช่นโถส้วม อ่างล้างหน้า กระเบื้องปูห้องน้ำ ฝักบัว ก๊อกน้ำ
เวชภัณฑ์ มีความหมายครอบคลุมเครื่องมือเครื่องใช้ในการแพทย์ทั้งหมด เช่น เครื่องให้น้ำเกลือ ยาทุกชนิด เข็มฉีดยา เครื่องมือผ่าตัด ผ้าพันแผล
ทรัพย์ มีความหมายครอบคลุมสิ่งมีค่าทั้งหมดทั้งที่เคลื่อนที่ได้และไม่ได้ เช่น วัว ควาย รถ เงิน ทอง ที่ดิน สติปัญญา เสื้อผ้า เครื่องประดับ
ญาติ มีความหมายครอบคลุมถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา เช่น พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หลาน
ประชาชน มีความหมายครอบคลุมพลเมืองของประเทศ เช่น พ่อค้า ชาวนา ข้าราชการ คนว่างงาน











การใช้คำ
                       
ผู้ที่เข้าใจความหมายของถ้อยคำแล้วควรรู้จักนำคำเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลด้วย การใช้ถ้อยคำให้เกิดประสิทธิผล มีข้อควรคำนึงที่สำคัญดังต่อไปนี้

ใช้คำให้ตรงตามความหมาย
          การใช้คำให้ตรงตามความหมาย มีข้อควรระวังดังนี้
                       
ประการที่ ๑ เมื่อเจตนาจะใช้ถ้อยคำให้มีความหมายนัยตรง ต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นคิดไปในทางที่มีความหมายนัยประหวัด โดยเลือกใช้คำให้มีความหมายกระชับ หรือใช้บริบทช่วยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
          ตัวอย่าง: ในการประกาศทางเครื่องขยายเสียง มีข้อความว่า

ให้นักเรียนห้อง ค. ประชุมในห้องเล็ก ส่วนนักเรียนห้อง ข. ประชุมในห้องใหญ่
                       
ผู้ประกาศเจตนาใช้คำ ห้องเล็ก และห้องใหญ่ ให้มีความหมายนัยตรง คือ หมายถึงห้องประชุมเล็กและห้องประชุมใหญ่ซึ่งทุกคนในบริบทนั้นรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่คำว่าห้องเล็กอาจทำให้เกิดความหมายนัยประหวัดว่าเป็นห้องที่มีความสำคัญน้อยกว่า เป็นต้น
                       
ตัวอย่าง: มีผู้พูดว่า เราต้องทำงานนี้อย่างมีแผนนะ
          ผู้พูดต้องการกำชับ โดยใช้คำ แผน ที่มีความหมายนัยตรงว่าการตระเตรียมอย่างรอบคอบ แต่ผู้ฟังบางคนอาจเข้าใจว่าหมายถึงการใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมที่แยบยล ซึ่งเป็นความหมายนัยประหวัดที่ไม่พึงประสงค์
          ประการที่ ๒ ไม่ใช้คำที่ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายไปได้มากกว่า ๑ อย่าง หรือที่เรียกว่าความหมายกำกวม
          ตัวอย่าง: ผู้โดยสารถามคนขับรถรับจ้างขณะนั่งอยู่ในรถว่า จากที่นี่ไปสถานี ๑๐ นาทีจะถึงไหม คนขับรถรับจ้างตอบว่า ไม่ถึง ซึ่งปรากฏว่าเมื่อขับไปเพียง ๕ นาทีก็ถึงสถานีแล้ว ผู้โดยสารจึงท้วงว่า ไหนว่า ๑๐ นาทีจะไม่ถึงสถานีอย่างไรล่ะ คนขับรถก็แย้งว่า อ้าวก็ ๕ นาที ไม่ถึง ๑๐ นาทีหรอกครับ
                       
          ตัวอย่าง: ผู้บังคับบัญชาบ่นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฟังว่า หมู่นี้ผมเหนื่อยเหลือเกิน
          ผู้บังคับบัญชาต้องการสื่อความหมายว่าเหน็ดเหนื่อยเพราะทำงานมากเกินไปซึ่งเป็นความหมายนัยตรง แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาอาจเข้าใจว่าผู้บังคับบัญชาเกิดความอิดหนาระอาใจตนซึ่งเป็นความหมายนัยประหวัด

          ตัวอย่างข้างต้นนี้ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดความหมายนัยประหวัดอาจปรับปรุงดังนี้
          ใช้คำว่า ห้องประชุมเล็กแทนคำว่าห้องเล็ก
          พูดให้ละเอียดชัดเจนว่า เราต้องทำงานโดยวางแผนล่วงหน้าให้เรียบร้อย
          ขยายความให้ชัดเจนว่า หมู่นี้ผมออกแรงหน่อยก็เหนื่อยเสียแล้ว

ใช้คำให้ตรงตามความนิยม
คำที่มีความหมายเดียวกันบางทีอาจใช้แทนกันได้ แต่บางทีก็อาจใช้แทนกันไม่ได้ แล้วแต่ความนิยมของคนที่ใช้ภาษานั้นๆ ว่าจะต้องใช้คำใดในประโยคหรือบริบทใด
          ตัวอย่าง
          คำที่มีความหมายว่า มาก ในภาษาไทยมีอยู่หลายคำ แต่ละคำที่มีใช้ต่างๆ กันตามความนิยมและบางคำอาจแฝงความหมายต่างๆ กันไปบ้างเล็กน้อย เช่น

                    ที่นี่ยุง ชุม                                               ปีนี้มะม่วง ดก
                    เมื่อคืนนี้ฝนตก หนัก                                    ปีนี้ฝนตก ชุก กว่าทุกปี
                    ปีนี้ข้าวปลาอาหาร บริบูรณ์ ดี                         ย่านนี้โจรผู้ร้าย ชุกชุม
                    ประเทศไทยเราข้าวปลา อุดมสมบูรณ์                 ผู้คน ล้นหลาม ออกมานอกร้าน
                    ผู้คน แน่นขนัด ตลาดน้ำในวันหยุด                    ฝนตกน้ำท่วม เจิ่ง นองถนน

ใช้คำให้เหมาะสมแก่กาลเทศะและบุคคล
          การสื่อสารของคนเรานั้น ฐานะของผู้สื่อสาร โอกาส สถานที่ หรือกาลเทศะนั้นเป็นเรื่องสำคัญในการสื่อการ ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสำคัญประการหนึ่งเนื่องมาจากภาษาไทยเรามี ระดับของภาษา คนไทยมีความละเอียดรอบคอบในการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคลและกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการใช้คำก็สมควรพิจารณาระดับของการสื่อสารด้วย

ความรู้เกี่ยวกับระดับภาษา
บทนำ
          ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความรู้ ความคิด ความรู้สึก จินตนาการ ตลอดจนทัศนคติแล้ว ภาษายังใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกันทั้งในวงแคบ และวงกว้าง เราอาจสังเกตเห็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้จากภาษาที่ใช้ เช่น บุคคล ๒ คนคุ้นเคยกัน ย่อมใช้ภาษาที่แสดงความคุ้นเคย บุคคล ๒ คนที่เพิ่งมีโอกาสพบกัน ย่อมใช้ภาษาที่ต่างออกไป แม้จะพูดในเรื่องเดียวกับบุคคล ๒ คนแรกก็ตาม
          นอกจากนี้ มนุษย์ยังใช้ภาษาโดยคำนึงถึงโอกาส กาลเทศะ และประชุมชนอีกด้วย เช่นในโอกาสที่เป็นทางการ ย่อมใช้ภาษาอย่างหนึ่ง ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ ย่อมใช้ภาษาอีกอย่างหนึ่ง แม้ผู้ใช้ภาษาจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ตาม ด้วยเหตุนี้ภาษาจึงมีลักษณะผิดแผกกันเป็นหลายระดับ ระดับภาษาเป็นเรื่องของความเหมาะสมในการใช้ภาษาตามสัมพันธภาพของบุคคล ตามโอกาส กาลเทศะ และประชุมชน เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย

การแบ่งภาษาเป็นระดับต่างๆ
          การแบ่งภาษาออกเป็นระดับต่างๆ นั้น อาจแบ่งได้เพียง ๒ ระดับ คือระดับที่เป็นแบบแผน และระดับที่ไม่เป็นแบบแผน หรืออาจแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับพิธีการ ระดับกึ่งพิธีการ และระดับไม่เป็นพิธีการ หรือแบ่งออกเป็น ๕ ระดับ คือ ระดับพิธีการ ระดับทางการ ระดับกึ่งทางการ ระดับไม่เป็นทางการ และระดับกันเอง ซึ่งในที่นี้จะอธิบายระดับของภาษาเป็น ๕ ระดับข้างต้น โดยระดับของภาษาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นสามารถเขียนเป็นตาราง เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาความสัมพันธ์ ดังนี้

ตารางแสดงความสัมพันธ์ของระดับภาษาต่างๆ

ภาษาระดับที่เป็นแบบแผน
ภาษาระดับที่ไม่เป็นแบบแผน
ภาษาระดับพิธีการ
ภาษาระดับกึ่งพิธีการ
ภาษาระดับไม่เป็นพิธีการ
ภาษา
ระดับพิธีการ
ภาษา
ระดับทางการ
ภาษา
ระดับกึ่งทางการ
ภาษา
ระดับไม่เป็นทางการ
ภาษา
ระดับกันเอง









          ให้นักเรียนพิจารณาตัวอย่างภาษาทั้ง ๕ ระดับ ที่มีเนื้อความในทำนองเดียวกันดังต่อไปนี้




          ๑) การที่ท่านทั้งปวงได้แสดงมุทิตาจิต และอวยชัยให้พรแก่ข้าพเจ้าด้วยความพร้อมเพรียงเป็นสมานฉันท์เช่นนี้ ยังความปีติยินดีแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก จึงขอแสดงความขอบใจท่านทั้งปวงด้วยความจริงใจเป็นที่สุด ขออำนวยพรให้ท่านทั้งปวงจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติทุกประการ
            ๒) ผมขอขอบคุณอย่างยิ่ง และขอพูดด้วยน้ำใสใจจริง ผมรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจไมตรีที่ท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาส่ง และอวยพรให้ผมเดินทางโดยสวัสดิภาพ ทั้งอวยพรให้ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหน้าที่ราชการ ผมมิรู้ที่จะกล่าวขอบคุณให้สมกับความรู้สึกได้ แต่ก็ปวารณาว่า ผมจะอุตส่าห์ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เต็มความสามารถโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนทั่วไปเป็นอันดับแรกที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าผลดังกล่าวก็จะตกอยู่กับประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา หรืออีกนัยหนึ่งตกอยู่กับพวกเราทุกคนนั่นเอง
            ๓) ผมขอขอบคุณที่อาจารย์มีน้ำใจ และแสดงออกซึ่งน้ำใจนั้น ณ ที่ประชุมนี้ ผมจะพยายามรักษาตัวให้ดีสมกับความปรารถนาของอาจารย์ ถ้ามีสิ่งใดที่ผมพอจะรับใช้ได้ ที่จะอำนวยประโยชน์แก่พวกเราโดยส่วนรวม ผมก็จะไม่รีรอที่จะกระทำเลย ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่งครับ
            ๔) ขอคุณมากครับที่อวยพรให้ผม ขอให้พวกคุณได้รับสิ่งที่ดีงามเหล่านั้นด้วยเช่นกันนะครับ เพราะถ้าเรามีอะไร ได้อะไรเหมือนๆ กัน เราก็คงจะมีโอกาสสังสรรค์กันเช่นนี้อีก วันนี้ขอให้ฉลองศรัทธากันให้เต็มอิ่มเลยนะครับไม่ต้องเกรงใจ
            ๕) ขอบใจนะพรรคพวก พวกนายทำให้เรามีความสุขมากที่สุดในวันนี้ ขอให้สนุกกันให้เต็มที่โดยการใช้ปากให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะกินหรือจะพูด ว่ากันให้เต็มที่เลย
 
 



         















         
จากตัวอย่างข้างต้นนี้ เราอาจะแสดงลักษณะสำคัญของภาษาแต่ละระดับได้ดังนี้

ภาษาระดับพิธีการ
          ภาษาในระดับพิธีการ ใช้สื่อสารกันในที่ประชุมที่จัดขึ้นอย่างเป็นพิธีการ อาทิ การเปิดประชุมรัฐสภา การกล่าวอวยพร การกล่าวต้อนรับ การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญาบัตร หรือกล่าวถวายรายงานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร การกล่าวสดุดี หรือกล่าวเพื่อจรรโลงใจให้ประจักษ์ในคุณงามความดี การกล่าวพิธีเปิดงานสำคัญๆ เป็นต้น
          ผู้ส่งสารระดับนี้มักเป็นบุคคลสำคัญ หรือมีตำแหน่งหน้าที่สูงในวงการนั้นๆ ผู้รับสารส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลในวงการเดียวกันกับผู้ส่งสาร หรือเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นประชาชนทั้งประเทศ
          สัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารนั้นมีต่อกันอย่างเป็นทางการ แม้ว่าโดยส่วนตัวจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันก็ตาม ส่วนใหญ่ผู้ส่งสารเป็นผู้กล่าวฝ่ายเดียว ไม่มีการตอบโต้ หรือถามคำถามจากฝ่ายผู้รับสาร หากจะมีก็เป็นการกล่าวตอบที่กระทำอย่างเป็นพิธีการในฐานะผู้แทนของกลุ่มเท่านั้น
          สารทุกตอน ไม่ว่าจะตอนเริ่มต้น ตอนดำเนินความ หรือตอนลงท้าย จะมีลักษณะเป็นพิธีรีตอง เป็นทางการ มีความจริงจังโดยตลอด กล่าวคือมักใช้ถ้อยคำที่เลือกเฟ้นแล้วว่าไพเราะสละสลวย และก่อให้เกิดความรู้สึกจรรโลงใจเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ผู้กล่าว หรือผู้ส่งสารจึงต้องเตรียมบท หรือวาทนิพนธ์มาล่วงหน้า และมักนำเสนอด้วยวิธีอ่านต่อหน้าที่ประชุม

ภาษาระดับทางการ
          ภาษาในระดับนี้ใช้ในการอภิปราย หรือบรรยายอย่างเป็นทางการในที่ประชุม หรือใช้ในการเขียนข้อความที่จะให้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นการเป็นงาน โดยปกติในการประชุมที่ต่อจากช่วงที่ต้องทำพิธีการแล้ว มักจะใช้ภาษาในระดับนี้ หนังสือที่ใช้ติดต่อกับทางราชการ หรือในวงการธุรกิจก็ใช้ภาษาระดับนี้เช่นกัน
          ผู้ส่งสาร และผู้รับสารมักเป็นบุคคลในวงการ หรือมีอาชีพเดียวกัน ต่างก็มีหน้าที่ และภารกิจโดยตรงเกี่ยวกับธุรกิจ หรือวิชาการในด้านนั้น ด้วยเหตุนี้ สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปในทางธุรกิจ และการงาน เช่นการบอกหรือรายงานให้ทราบ ให้ความรู้เพิ่มเติม เสนอความคิดเห็น อาจตอบโต้ หรือถามคำถามได้ในระยะเวลาที่จัดไว้ให้ ซึ่งมักจะเป็นภายหลังจากที่ผู้ส่งสารได้แสดง หรือส่งสารของตนเรียบร้อยแล้ว
          เนื้อหาของสารมีลักษณะเจาะจงเกี่ยวกับธุรกิจ หรือความรู้ความคิดที่มีความสำคัญเป็นที่น่าสนใจ หรือที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างผู้รับสาร และผู้ส่งสาร การใช้ถ้อยคำจึงมักตรงไปตรงมา มุ่งเข้าสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการโดยเร็ว อาจมีศัพท์เทคนิค หรือศัพท์วิชาการมากน้อยแล้วแต่ลักษณะของการประชุม และลักษณะของผู้รับสาร หลักของการสื่อสารในระดับนี้เน้นการสื่อสารให้ได้ตามจุดประสงค์ โดยประหยัดถ้อยคำ ประหยัดเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าผู้รับสารเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณามากน้อยไม่เท่ากัน ผู้ส่งสารก็จำเป็นต้องใช้คำอธิบายมากขึ้น อย่างไรก็ดีหลักการประหยัดทำให้สารชนิดนั้นไม่อาจใช้คำฟุ่มเฟือย หรือเล่นคำแพรวพราวได้

ภาษาระดับกึ่งทางการ
          ภาษาในระดับนี้คล้ายกับในระดับที่ ๒ แต่ลดความเป็นการเป็นงานลงบ้าง เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพอันใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างผู้ส่งสาร และผู้รับสาร โดยทั่วไปการใช้ภาษาระดับนี้มักใช้ในการประชุมกลุ่มเล็กกว่าการประชุมที่กล่าวในข้อ ๒ แต่ทั้งการพูดและการเขียนก็ยังเป็นการสื่อสารไปสู่กลุ่มบุคคล จึงอาจมีการตอบโต้หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นระยะๆ บ้าง
          ภาษาระดับนี้มักใช้ในการประชุมกลุ่มหรืออภิปรายกลุ่ม การบรรยายในห้องเรียน ข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ โดยทั่วไปจะมีถ้อยคำสำนวนภาษาที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยกันมากกว่าภาษาในระดับทางการ เนื้อหาของสารมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป การแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการหรือที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ และมักใช้ศัพท์ทางวิชาการเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลที่ไม่ได้เรียนรู้ในด้านนั้นๆ โดยตรง สามารถรับสารจากการฟัง หรืออ่านได้เข้าใจตรงกับจุดประสงค์ของผู้ส่งสาร

ภาษาระดับไม่เป็นทางการ
          ภาษาระดับนี้มักใช้สนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่เกิน ๔ ๕ คน ในสถานที่และเวลาที่ไม่ใช่ส่วนตัว แม้บุคคลจะใช้ภาษาที่รู้จักมักคุ้นกันอยู่ก็ตาม การเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน การรายงานข่าว การเสนอบทความในหนังสือพิมพ์บางครั้งก็ใช้ภาษาในระดับนี้
เนื้อหาของสารมักเป็นเรื่องทั่วไปในการดำเนินชีวิต กิจธุระต่างๆ รวมไปถึงการปรึกษาหารือร่วมกัน กล่าวคือไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องทางวิชาการเท่านั้น ถ้อยคำสำนวนภาษาที่ใช้อาจมีถ้อยคำที่เคยใช้กันเฉพาะกลุ่ม หรือเข้าใจความหมายกันได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ภาษาระดับกันเอง
ภาษาระดับนี้เป็นภาษาที่ใช้กันในวงจำกัด เช่นภาษาที่ใช้ในครอบครัว ใช้ระหว่างสามีภรรยา บิดา มารดา บุตร หรือใช้ระหว่างเพื่อนสนิท สถานที่ที่ใช้ภาษาระดับกันเองในการสื่อสารมักเป็นสถานที่ส่วนตัว เช่นที่บ้าน หรือในสถานที่ที่เป็นสัดส่วนของตนโดยเฉพาะ
เนื้อหาของสารไม่มีขอบเขตจำกัด พูดจากันในเรื่องใดก็ได้ ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ยกเว้นภาษากันเองใน นวนิยายหรือเรื่องสั้นบางตอนเพื่อทำให้เนื้อเรื่องสมจริง ถ้อยคำที่ใช้อาจมีคำคำนองเฉพาะกลุ่ม หรืออาจใช้ภาษาถิ่น

การแบ่งภาษาออกเป็น ๕ ระดับตามที่ได้อธิบายมามีข้อควรสังเกตบางประการดังนี้

๑.            การแบ่งภาษาเป็น ๕ ระดับ พิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วนำมาจัดแบ่งเป็นระดับเพื่อทำให้เข้าใจง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแบ่งแยกกันเด็ดขาด ภาษาอีกระดับหนึ่งอาจมาเหลื่อมล้ำอีกระดับหนึ่ง เช่นภาษาระดับทางการกับกึ่งทางการอาจใช้ปะปนกัน ระดับกึ่งทางการกับระดับไม่เป็นทางการอาจใช้ปะปนกันบ้าง เป็นต้น
๒.            บุคคลแต่ละคนอาจไม่มีโอกาสใช้ภาษาครบทั้ง ๕ ระดับ แต่ทุกคนต้องใช้ภาษาระดับกึ่งทางการ และไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ ระดับพิธีการบางคนแทบไม่มีโอกาสใช้เลย และระดับกันเองบางคนก็ไม่นิยมที่จะใช้ เป็นต้น
๓.            บุคคลอาจใช้ภาษาระดับกึ่งทางการในสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาระดับไม่เป็นทางการและกันเองปะปนไปดังที่ได้กล่าวข้างต้น แต่หากนำภาษาระดับพิธีการและทางการไปใช้ในโอกาสที่ต้องใช้ภาษาระดับไม่เป็นทางการหรือกันเอง หรือนำภาษาระดับไม่เป็นทางการหรือกันเองไปใช้ในโอกาสที่ต้องใช้ภาษาระดับทางการย่อมทำให้เกิดความไม่เหมาะสม หากใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร เป็นต้นว่าผู้รับสารอาจเข้าใจว่าผู้ส่งสารไม่จริงใจ เสแสร้ง หรือไม่รู้จักกาลเทศะ เป็นต้น

ดังนั้นการศึกษาเรื่องระดับภาษาจึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจว่า ภาษาของเรานั้นมีอยู่หลากหลายระดับ  การตัดสินว่าภาษาที่ใช้นั้นถูกต้องหรือไม่ ดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ขึ้นอยู่กับโอกาส กาลเทศะ และสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่ผู้ใช้ภาษาสื่อสารด้วย เช่นความสนิทสนม อายุ เพศ วัย ฯลฯ การเรียนรู้เรื่องการใช้ภาษาไม่ให้ผิดระดับจนเกิดผลเสียต่อการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรต้องฝึกฝนไว้

ปัจจัยที่กำหนดระดับภาษา
          การแบ่งภาษาออกเป็น ๕ ระดับดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีปัจจัยที่กำหนดระดับของภาษาดังนี้
๑.      โอกาสและสถานที่ โอกาสและสถานที่ที่ใช้ในภาษาเป็นปัจจัยที่ทำให้ใช้ภาษาต่างระดับกัน ถ้าสื่อสารกับบุคคลกลุ่มใหญ่ หรือในที่ประชุมก็อาจใช้ภาษาระดับหนึ่ง ถ้าสื่อสารกันในที่สาธารณะเช่น ตลาดร้านค้า ภาษาที่ใช้ก็จะต่างระดับกับเมื่อสื่อสารกันที่บ้าน
๒.     สัมพันธภาพระหว่างบุคคล บุคคลอาจมีสัมพันธภาพต่อกันหลายลักษณะ เช่นเป็นเพื่อนสนิทกัน เป็นผู้ที่พึ่งรู้จักกัน เป็นผู้ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ฯลฯ สัมพันธภาพต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่กำหนดระดับของภาษาที่บุคคลสื่อสารกัน แต่ทั้งนี้จะเกี่ยวโยงกับปัจจัยข้อที่ ๑ ดังที่กล่าวมาด้วย เช่น บุคคลที่เป็นเพื่อนสนิทกัน เมื่อพูดกันในที่ประชุมที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ย่อมไม่อาจใช้ภาษาในระดับที่เคยใช้เมื่อสนิทสนมกันตามลำพัง
๓.     ลักษณะของเนื้อหาในสาร เนื้อหาของสารเกี่ยวพันกับโอกาสในการสื่อสารอยู่ไม่น้อยเช่น เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ก็ไม่อาจนำไปใช้ในโอกาสที่ต้องใช้ภาษาระดับพิธีการ หรือระดับทางการ แม้เนื้อหาในทำนองเดียวกันก็อาจใช้ภาษาให้ต่างๆ กันไปได้ทั้ง ๕ ระดับ ดังตัวอย่างที่แสดงแล้ว แต่เนื้อหาบางชนิดอาจไม่ใช้ภาษาต่างกันเป็นหลายระดับ ถ้าใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับระดับก็จะทำการสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผลดังที่ต้องการ
๔.     สื่อที่ใช้ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนระดับ คือสื่อ ตัวอย่างถ้าสื่อคือจดหมายส่วนตัวผนึกซอง อาจใช้ภาษาในระดับที่แตกต่างกับภาษาที่ใช้ในไปรษณียบัตร ถ้าเราบอกต่อๆ กันด้วยปาก ระดับภาษาที่ใช้ย่อมแตกต่างกับเมื่อประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง และย่อมจะแตกต่างกับภาษาที่พูดทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์

ลักษณะของภาษาระดับต่างๆ
          ถ้าเราสังเกตลักษณะของภาษาในระดับต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้
๑.      การเรียบเรียง ในภาษาระดับพิธีการ และระดับทางการ ผู้ส่งสารซึ่งรวมทั้งผู้พูดและผู้เขียนจะเรียบเรียงเนื้อหาให้มีความต่อเนื่องกลมกลืนกันอย่างมีระเบียบ และพิถีพิถันขัดเกลาภาษาให้สละสลวย เช่น ในการกล่าวปราศรัย การกล่าวต้อนรับผู้แทนระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์กร มักมีการเตรียมวาทนิพนธ์ไว้ล่วงหน้า ถ้าเป็นหนังสือราชการก็จะเขียนอย่างมีระเบียบ โดยกล่าวถึงจุดประสงค์ของเรื่อง ซึ่งอาจประกอบด้วยเหตุผล ความต้องการ ความจำเป็น แล้วจึงสรุปในตอนท้ายว่า ประสงค์จะให้ผู้รับสารทราบ หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
การเขียนบทความเพื่อความรู้ทางวิชาการซึ่งใช้ภาษาระดับทางการก็เช่นกัน เนื้อความจะเรียงลำดับเช่น เริ่มต้นด้วยความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้เรื่องนั้นๆ แล้วกล่าวถึงความรู้ไปทีละเรื่องๆ ซึ่งอาจมีคำอธิบายประกอบและยกตัวอย่าง แล้วอาจจบด้วยประโยชน์ของความรู้นั้นๆ หรือหนทางที่จะนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น
ส่วนภาษาระดับกึ่งทางการอาจมีการตอบโต้ซักถามและอภิปราย อาจมีการพูดที่ไม่เรียงลำดับหรือไม่เป็นระเบียบบ้าง เพราะผู้พูดอาจเข้าใจประเด็นสับสน พูดออกนอกเรื่องหรือพูดในสิ่งที่ตนอยากจะพูด ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น หน้าที่ของผู้นำการพูดหรือการอภิปรายคือพยายามนำให้เข้าสู่ประเด็นเพื่อให้การประชุมหรือการอภิปรายได้ผลตรงตามจุดประสงค์ อย่างไรก็ดีถ้าเป็นการเขียน ผู้เขียนต้องระมัดระวังการลำดับข้อความเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ ทั้งนี้เพราะผู้อ่านไม่อาจถามได้ และมิได้มีประธานนำเข้าสู่ประเด็นเหมือนในการพูด หรือการบรรยายที่มีช่วงให้ถาม
ภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเองนั้น ความเป็นระเบียบดังกล่าวนี้จะลดหย่อนลงตามลำดับ
๒.     กลวิธีนำเสนอ ภาษาระดับพิธีการและระดับทางการมักใช้กลวิธีนำเสนอตามรูปแบบที่กำหนดไว้แล้วเช่น ในการกราบบังคมทูลหรือกล่าวรายงานจะต้องใช้คำขึ้นต้น วรรคนำและคำลงท้ายตามแบบแผนที่เคยใช้กันมา ถ้าเป็นการนำเสนอด้วยวาจา ผู้นำเสนอก็ต้องนำเสนอด้วยกิริยาอาการที่สำรวม ใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดได้ การแต่งกายและการใช้อวัจนภาษาอย่างอื่นก็ต้องถูกต้องตามระเบียบแบบแผนพิธีการด้วย หากเป็นการนำเสนอทางสื่อมวลชนเช่น ประกาศหรือแถลงการณ์ การนำเสนอมักเป็นไปอย่างกลางๆ ไม่เจาะจงส่งสารไปที่ผู้ใดผู้หนึ่ง มุ่งไปสู่สารธารณชนเป็นสำคัญ ผู้นำเสนอจะไม่สื่อความหมายว่าสารที่นำเสนอนั้นเป็นของตน อาจกล่าวเพียงในฐานะผู้แทนของกลุ่มหรือในนามของตำแหน่งนั้นๆ
     ในการเขียนหนังสือราชการหรือธุรกิจติดต่อกันระหว่างหน่วยงานก็เช่นกัน มักสื่อสารกันระหว่างตำแหน่งในนามของหน่วยงานนั้นๆ เพราะมิได้เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเช่นในภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเอง
     การนำเสนอที่ใช้ภาษาระดับกึ่งทางการหรือระดับไม่เป็นทางการ วิธีนำเสนอก็ลดความเป็นพิธีรีตองไม่ตามลำดับ ไม่ยึดรูปแบบตายตัวนัก ผู้นำเสนออาจคิดหาวิธีแปลกใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ ถ้าผู้ส่งสารประสงค์จะแสดงตัวเองว่าเป็นผู้คิดผู้กล่าวข้อความนี้ ผู้ส่งสารมักใช้ภาษาระดับกึ่งทางการและมักใช้น้ำเสียงปกติ แต่บางช่วงก็อาจใช้น้ำเสียงที่แสดงความคุ้นเคยหรือแสดงความรู้สึกและอารมณ์ได้บ้าง
๓.     ถ้อยคำที่ใช้ ในภาษาไทยมีถ้อยคำที่แสดงความลดหลั่นตามระดับของภาษาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะถ้อยคำสำนวนที่เป็นคำซ้อน ๔ พยางค์ หลายสำนวนใช้ได้ในระดับภาษาไม่เป็นทางการลงมาเท่านั้นเช่น เอะอะมะเทิ่ง โง่เง่าเต่าตุ่น ทางหนีทีไล่ ไปวัดไปวา
ถ้อยคำที่เป็นอุทานเสริมบทเช่น อาบน้ำอาบท่า สตุ้งสตางค์ หนังสือหนังหา ได้ดิบได้ดี กางกงกางเกง ถ้อยคำเหล่านี้ใช้ได้ในระดับภาษาที่ไม่เป็นทางการลงมา
นอกจากนี้คำต่างๆ ที่มีความหมายตรงตัวหรือความหมายเชิงอุปมาซึ่งจำแนกเป็น ๗ ชนิด ดังที่ได้เรียนมาแล้ว (ชนิดของคำในไวยากรณ์) มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความลดหลั่นตามระดับของภาษาดังนี้
                    ๑) คำสรรพนาม
          ภาษาที่ใช้ในระดับพิธีการ ระดับทางการและระดับกึ่งทางการ สรรพนามที่ผู้ส่งสารใช้แทนตนเอง (บุรุษที่ ๑) มักเป็น กระผม ผม ดิฉันและข้าพเจ้า คำ ข้าพเจ้า ใช้ได้ทั้งชายและหญิง ส่วนสรรพนามฝ่ายผู้รับสาร (บุรุษที่ ๒) มักใช้ ท่าน ท่านทั้งหลาย
          ในภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเองมีคำสรรพนามใช้อีกมากเช่น ผู้ส่งสารอาจใช้ ฉัน ผม ดิฉัน กัน เรา หนู ฯลฯ และยังมีคำนามอื่นๆ ที่นำมาใช้ในที่ของสรรพนาม เช่น นิด น้อย ครู แดง หมอ ป้า แม่ ลูก หลาน ฯลฯ และใช้คำสรรพนามที่แทนผู้รับสารว่า เธอ คุณ ท่าน แก ตัว ฯลฯ และอาจใช้คำนามอื่นๆ ในที่ของสรรพนามได้เหมือนกัน
                    ๒) คำนาม
มีคำสามานยนามหลายคำที่เราใช้ในภาษาระดับกึ่งทางการ ระดับไม่เป็นทางการ และระดับกันเองเท่านั้นเช่น โรงหนัง ใบขับขี่ ใบรับรอง บัสเลน รถเมล์ แสตมป์ งานแต่งงาน หมา หมู ควาย คำเหล่านี้ถ้าใช้ในภาษาตั้งแต่ระดับทางการขึ้นไปจะใช้ว่า โรงภาพยนตร์ ใบอนุญาตขับรถยนต์ หนังสือรับรอง ช่องเดินรถประจำทาง รถประจำทาง ดวงตราไปรษณียากร งานมงคลสมรส สุนัข สุกร และกระบือ ตามลำดับ
ส่วนคำวิสามานยนามเช่น ชื่อโรงเรียน ชื่อคน ชื่อหน่วยงาน ในภาษาระดับทางการขึ้นไปควรใช้ชื่อเต็ม แต่ในภาษาระดับกึ่งทางการลงมาอาจไม่ใช้ชื่อเต็มก็ได้
คำลักษณะนามบางคำมีผู้ใช้ในภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเองเช่น พระ ๙ องค์ เรื่องอันนี้ แต่ถ้าภาษาในระดับทางการขึ้นไปต้องระมัดระวังใช้ให้ถูกต้องตามแบบแผนคือ ภิกษุ ๙ รูป เรื่องเรื่องนี้ หรือเรื่องนี้ เป็นต้น
อนึ่ง ต้องไม่สำคัญผิดว่า ในภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเอง เราจะใช้ลักษณะนามอย่างไรก็ได้ตามความพอใจของเรา เพราะลักษณะนามเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาไทย ควรใช้ให้ถูกแบบแผนและถูกต้องตามความนิยมของภาษา
๓) คำกริยา
ในภาษาไทยมีคำกริยาที่แสดงระดับต่างๆ ของภาษาได้อย่างชัดเจนเช่น ตาย ซึ่งอาจใช้ มรณภาพ ถึงแก่กรรม เสีย สิ้น สิ้นชีพิตักษัย สวรรคต หรือ กิน ก็มี รับประทาน บริโภค ทาน เป็นต้น
คำกริยาบางคำเราใช้ทั่วๆ ไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้าใช้ให้เป็นทางการขึ้นก็จะใช้อีกอย่างหนึ่ง เช่น

ทิ้งจดหมาย          ถ้าเป็นภาษาระดับทางการขึ้นไปจะใช้               ส่งจดหมายทางไปรษณีย์
ตีตรา                  ถ้าเป็นภาษาระดับทางการขึ้นไปจะใช้               ประทับตรา
เผาศพ                ถ้าเป็นภาษาระดับทางการขึ้นไปจะใช้               ฌาปนกิจศพ
คลอดลูก/ออกลูก   ถ้าเป็นภาษาระดับทางการขึ้นไปจะใช้               คลอดบุตร
รดน้ำแต่งงาน       ถ้าเป็นภาษาระดับทางการขึ้นไปจะใช้               หลั่งน้ำพระพุทธมนต์

๔) คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์บางคำใช้ขยายกริยาหรือขยายวิเศษณ์ด้วยกัน มีใช้มากในภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเอง และบางคำก็นำไปใช้ในภาษาระดับกึ่งทางการได้บ้าง แต่เกือบจะไม่ใช้เลยในภาษาระดับทางการขึ้นไป คำวิเศษณ์เหล่านี้มักเป็นคำบอกลักษณะ หรือแสดงความรู้สึกที่มากขึ้น หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เช่น เปรี้ยวจี๊ด เขียวอื๋อ ขมปี๋ ดังเอี้ยด นั่งแผละ อ้วนฉุ ได้เยอะแยะ รีบทำแทบตาย ยุ่งจัง วิ่งเร็วจี๋ ยิ้มแฉ่ง ฟาดเต็มเหนียว ก้าวเต็มเหยียด เป็นต้น
ในภาษาระดับทางการขึ้นไปหากจะใช้ในความหมายเดียวกันนี้ใช้คำ มาก จัด เป็นอย่างมาก หรือเป็นอันมาก แทนคำชนิดอื่นเช่น คำเชื่อมที่เป็นบุพบท สันธาน และคำสรรพนามที่ใช้เชื่อม มักไม่ทำให้ภาษาเปลี่ยนระดับคำ คะ ครับ ซิ นะ เถอะ มักใช้ในภาษาระดับไม่เป็น ทางการและระดับกันเองเท่านั้น อีกทั้งการออกเสียงว่า ยังงั้น ยังงี้ ยังไง ใช้ได้ในการพูด   เฉพาะภาษาระดับกึ่งทางการลงมา การพูดที่ใช้ภาษาระดับทางการขึ้นไปควรใช้ให้เต็มและออกเสียงให้ชัดว่า อย่างนั้น อย่างนี้ และอย่างไร เป็นต้น
เท่าที่รวบรวมมากล่าวนี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางประการเท่านั้น หากเราลองสังเกตภาษาไทยที่เราใช้กันอย่างปกติในชีวิตประจำวัน เราอาจจะพบเจอข้อสังเกตเพิ่มเติมก็เป็นได้




[๑] คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔. ภาษาเพื่อพัฒนาการสื่อการ. ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๖, โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว. กรุงเทพ: ๒๕๕๒